15 Apr
15Apr

อาการสบฟันไขว้ เป็นลักษณะที่ฟันบนบางส่วนอยู่ด้านในของฟันล่าง ซึ่งตามปกติฟันบนควรจะอยู่ทางด้านนอก หรือที่หลายๆคนเรียกกันว่าฟันหน้าล่างคร่อมฟันหน้าบน ทำให้เกิดปัญหาของการสบฟันที่มันไม่เหมาะสม หากปล่อยปัญหาเหล่านี้เอาไว้ โดยไม่แก้ไข ผลเสียจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน เช่น ปัญหาฟันสึก เสียวฟัน ทำความสะอาดยาก หรือโรคเหงือก

ความผิดปกตินี้เกิดได้หลากหลายสาเหตุแต่หลักๆแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.เกิดจากความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร ขากรรไกรล่างมีขนาดใหญ่กว่าขากรรไกรบนมากกว่าปกติ ส่งผลให้ฟันล่างมันยื่นออกไปตามกระดูกขากรรไกรล่างด้วย ถ้าคนไข้ต้องการแก้ไขโดยส่วนมาก จะมีหลักคิดในการรักษาคร่าวๆ 2 แบบได้แก่

1.1 ขากรรไกรล่างยื่นไปมากๆ จนไม่สามารถแก้ได้ด้วยการจัดฟันเพียงอย่างเดียว ความผิดปกตินี้จะต้องแก้ด้วยการผ่าตัดกระดูกขากรรไกร ร่วมกับการจัดฟันไปด้วยกัน เพื่อโครงสร้างของใบหน้าที่ได้สัดส่วนและการสบฟันที่ดี

1.2 ขากรรไกรล่างยื่นแต่ไม่มาก อาจจะยังพอที่จะเลือกการจัดฟันในการแก้ไขให้ได้การเรียงตัวที่ดี เพราะสิ่งที่เราต้องทราบคือ ขากรรไกรอยู่ที่เดิม(ยื่นเหมือนเดิม) แต่ฟันคือส่วนที่จะขยับ ถ้ายื่นมากเกินไป ฟันหน้าล่างจะล้มเอียงเข้ามาทางด้านหลัง ส่งผลเสียต่อการสบฟันได้ 


2.เกิดจากความผิดปกติของการเรียงตัวของฟัน ฟันซ้อน มีฟันฝังหรือหายไป จนนำไปสู่การสบไขว้ของฟันหน้า ลักษณะดังกล่าวคาดเดาได้ว่า น่าจะพอที่จะใช้การจัดฟันช่วยแก้ไขได้


แต่ทั้งนี้ การมาตรวจกับทันตแพทย์ จะช่วยระบุสาเหตุและการแก้ไขของปัญหาได้ชัดเจนมากที่สุด เพราะในการตรวจมีการประเมินด้วยภาพถ่ายรังสี การดูในช่องปาก รูปร่างโครงสร้างของใบหน้าและกระดูกกะโหลกศีรษะ ร่วมกัน


ประเด็นสำคัญคือ การ detect ความผิดปกติได้ตั้งแต่ตอนที่อายุยังไม่มาก เป็นช่วงที่กำลังมีการเจริญของระบบกระดูกขากรรไกร และได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงของการสบฟันลักษณะนี้ได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ท่านพาบุตรหลานมาตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ ทันตแพทย์ก็จะสามารถระบุปัญหาความผิดปกติเหล่านี้ และให้คำแนะนำในการแก้ไขได้

ส่วนท่านที่ล่วงเลยวัยไปแล้ว การไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจประเมิน และรับทราบข้อมูลการรักษาที่ตรงกับท่าน จะเป็นการดีที่สุด เพราะบางเคสสามารถรักษาโดยการจัดฟันได้ แต่ถ้าความรุนแรงมันมาก อาจจะต้องทำการผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟันด้วย


ตัวอย่างการรักษาในเคสที่ใช้การจัดฟัน

เคสในคลินิกทันตกรรมเดอะคราวน์



หลักๆจะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 ขั้นตอนด้วยกัน

ช่วงแรก ประมาณ 5-6 เดือนแรก จะเป็นการติดแบ็คเก็ตเฉพาะฟันบน ร่วมกับการใส่เครื่องมือยกฟันในฟันล่าง เรียกว่า Posterior bite plane หรือหมอจะสื่อสารกับคนไข้ว่า "ใส่เพลท" คนไข้มาปรับอุปกรณ์ทุกเดือน จนกระทั่งฟันบนอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยเพลทที่ใส่ คนไข้จะใส่แทบจะตลอดเวลา ถอดเฉพาะตอนแปรงฟันทำความสะอาดเท่านั้น



จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือการหยุดใส่เพลท แล้วติดแบ็คเก็ตฟันล่าง จากนั้นก็จัดการสบฟันบนและล่างร่วมกันต่อไป จนกระทั่งเสร็จสิ้น




สุดท้ายนี้ การรักษาทุกการรักษา ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไข้ในทุกแง่มุม เช่นการทำความสะอาดฟันในชีวิตประจำวัน อาศัยความร่วมมือในการใส่เพลท ต้องมีการปรับตัวมากพอสมควรในการใช้ชีวิตร่วมกับเพลท และการมารับการรักษาตามนัดอย่างเคร่งครัด ก็ยิ่งทำให้ผลการรักษามีโอกาสสำเร็จได้มาก โดยเฉพาะในเคสลักษณะนี้ ที่การควบคุมช่องและตำแหน่งฟันมีพื้นที่ให้ทำอย่างจำกัด ถ้าคนไข้ขาดความต่อเนื่องในการรักษา จะยิ่งทำให้การแก้ไขยากมากขึ้น และอาจจะต้องจบการรักษาด้วยการผ่าตัดขากรรไกรตามมาได้

                                                                                    ทีมเดอะคราวน์

Comments
* The email will not be published on the website.