งานจัดฟันใส เป็นอีกการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย ลดการบาดเจ็บจากการใช้แบ็คเก็ตติดที่ฟัน ลดความเจ็บปวดในการดึงฟัน ทำความสะอาดฟันได้ง่าย ช่วยลดปัญหาโรคปริทันต์ในระหว่างการจัดฟัน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการจัดฟันในช่วงวัยผู้ใหญ่ ใช้ระยะเวลาการรักษาไม่นาน เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยแบ็คเก็ต
บทความนี้เราจะแนะนำให้ท่านได้เข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการรักษา คำศัพท์ที่ทันตแพทย์มักใช้สื่อสารกับคนไข้ รวมไปถึงข้อจำกัดของการจัดฟันใส (เป็นความคิดเห็นส่วนตัว)
เริ่มจาก จัดฟันใส เหมาะกับลักษณะเคสแบบไหน แน่นอนครับว่าปัจจุบันทฤษฎีและเทคนิคที่ใช้ในการเคลื่อนฟันของงานจัดฟันใส ได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก สามารถแก้ไขเคสยากๆได้ในหลายกรณี แต่การจัดฟันใสมีข้อควรระวังและ Errors ที่เกิดขึ้นได้ในหลายขั้นตอน จากการออกแบบการเคลื่อนฟันผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งความสำเร็จของการจัดฟันใส มักขึ้นอยู่กับหลายประเด็น โดยเฉพาะความร่วมมือในการใส่ใช้งานของคนไข้ เนื่องจากชิ้นงานสามารถถอดออกได้ง่ายด้วยตัวของคนไข้เอง นอกจากนี้การวางชิ้นงานคลุมด้านสบฟัน ทำให้การเช็คการสบฟันในระหว่างการจัดฟันทำได้ยากกว่าการจัดฟันด้วยระบบแบ็คเก็ต ซึ่งติดแน่นกับฟันในช่องปาก และคุณหมอสามารถเช็คการสบฟันในแต่ละครั้งที่คนไข้มาปรับอุปกรณ์นั่นเอง ดังจะเห็นปัญหาจากการรายงานของทันตแพทย์หลายท่าน มักพบการสบฟันกรามที่ไม่สนิท ภายหลังการจัดฟันเสร็จสิ้น นำไปสู่ปัญหาเรื่องการเคี้ยวอาหาร และปัญหาการปวดข้อต่อขากรรไกรในเวลาต่อมาได้
ดังนั้น เคสที่มีความเหมาะสม (ในความคิดเห็นของคุณหมอ) เคสที่มีปัญหารุนแรงในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น มีช่องห่างขนาดเล็ก ฟันบิดเกที่ไม่ซับซ้อนมาก เป็นต้น ส่วนในเคสที่มีความผิดปกติของขากรรไกรและฟันอย่างมาก อาจจะต้องมีการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันประเภทอื่นร่วมด้วย
ขั้นตอนในการจัดฟันใส ก็จะมีขั้นตอนในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการจัดฟัน ที่คล้ายกับการจัดฟันทั่วไป ได้แก่ การตรวจประเมินและวางแผนการรักษา การพิมพ์ปากหรือสแกนช่องปากแบบ 3 มิติ ถ่ายภายภายในช่องปาก การเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ส่งประเมินชิ้นงานและออกแบบแผนการรักษาผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยเป็นการออกแบบแผนการรักษาตั้งแต่ visit แรก จนกระทั่งสิ้นสุดการรักษา เมื่อการออกแบบแผนการรักษาเสร็จสิ้น คุณหมอจะนัดคนไข้กลับมาคุยแผนการรักษา ชมคลิปรีวิวแผนการรักษาในแต่ละ Visit แจ้งจำนวนชิ้นงานที่คนไข้ต้องใส่ และเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมช่องปากต่อไป
ในชั้นตอนการเตรียมช่องปาก ก่อนการใส่ชิ้นงาน คุณหมอจะเช็คแผนการรักษาที่กำหนดให้ทำการอุด Attachment และการกรอแต่งซี่ฟัน หรือการทำ IPR
การอุด Attachment - จากภาพ ท่านจะเห็นปุ่มบนตัวฟันเป็นรูปสี่เหลี่ยมในแนวตั้ง หรือแนวนอน ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยในการเคลื่อนที่ของฟัน โดยสร้างขึ้นมาจากวัสดุอุดฟันคอมพอสิตนั่นเอง โดยมีตัว Template ช่วยในการทำ
การทำ IPR - หรือ Interproximal Reduction บางทีคุณหมอจะเรียกกันติดปากว่า การ Strip ฟัน ก็คือการใช้หัวกรอ กรอแต่งซอกฟันให้มีช่องตามที่แผนการรักษากำหนดมา เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฟันเคลื่อนได้
เครดิต : https://www.odontovida.com/2020/10/orthodontics-what-is-interproximal.html#google_vignette
เมื่อทำการอุดปุ่มบนตัวฟัน Attachment และกรอแต่งฟันเรียบร้อย คุณหมอจะทำการ Snap ตัวชิ้นงานชุดที่ 1 เข้าสู่ตำแหน่ง เช็คความฟิตของชิ้นงาน ให้คำแนะนำเรื่องการใส่ชิ้นงานอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นตอนถอดรับประทานอาหารและการแปรงฟัน การเปลี่ยนชิ้นงานชุดใหม่เมื่อใส่ไปแล้ว 10-14 วัน เทคนิคการใส่และถอดชิ้นงาน เพื่อลดการแตกหักเสียหายของชิ้นงานและวัสดุที่อุดปุ่มฟัน และการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดกรณีที่มีการแตกหักเสียหายของชิ้นงานหรือปุ่มตัวฟัน เป็นต้น
คุณหมอจะนัดกลับมาตรวจเช็คสภาพฟัน การสบฟัน ตรวจดูการดูแลความสะอาด เป็นระยะ จนกว่าจะใส่ชิ้นงานสุดท้าย ในกรณีที่ใส่ชิ้นงานสุดท้ายแต่ยังพบการเรียงตัวของฟันที่ยังไม่เหมาะสมตามแผน สามารถที่จะทำการ Refinement งานได้ ซึ่งคือขั้นตอนการตามเก็บงานที่ไม่เรียบร้อย การแก้ไขการสบฟัน สร้างชิ้นงานใหม่เพิ่มเติม เพื่อแก้ไข Errors ต่างที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อย จากนั้นจึงพิจารณาทำเครื่องมือคงสภาพฟัน หรือ Retainers ต่อไป
ขอบคุณที่ติดตามอ่านบทความและรีวิวเคส : คุณหมอกอล์ฟ ทีมเดอะคราวน์โคราช